เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 10.เวสสันดรชาดก (547) กัณฑ์หิมพานต์
เมื่อเราคิดจะบริจาคทานตามสภาพความเป็นจริง
ใจก็ไม่หวั่นไหวมุ่งมั่นอยู่ในกาลนั้น
เหมือนแผ่นดินมีภูเขาสิเนรุและหมู่ไม้เป็นเครื่องประดับ
(พระเวสสันดรตรัสกับพวกพราหมณ์ผู้มาทูลขอช้างว่า)
[1668] พวกพราหมณ์ผู้มีขนรักแร้ดก
และมีเล็บยาว มีขี้ฟันเขรอะ มีธุลีบนศีรษะ
เหยียดแขนข้างขวาออก จะขออะไรฉันหรือ
(พวกพราหมณ์กราบทูลว่า)
[1669] ข้าแต่สมมติเทพ ข้าพระองค์ทั้งหลายทูลขอรัตนะ
ที่เป็นเครื่องทำให้แคว้นของชาวกรุงสีพีเจริญ
ขอได้โปรดพระราชทานช้างตัวประเสริฐ
มีงาดุจงอนไถ มีกำลังสามารถเถิด
(พระเวสสันดรตรัสว่า)
[1670] เราจะให้ช้างพลายซับมันตัวประเสริฐ
ซึ่งเป็นช้างพาหนะอันสูงสุด
ที่พวกพราหมณ์ขอเรา เรามิได้หวั่นไหว
[1671] พระราชาผู้ทรงผดุงแคว้นให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพี
มีพระทัยน้อมไปในการบริจาค
เสด็จลงจากคอช้าง ทรงให้ทานแก่พราหมณ์ทั้งหลาย
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[1672] เมื่อพระเจ้ากรุงสีพีพระราชทานช้างตัวประเสริฐแล้ว
คราวนั้นความน่าสะพรึงกลัวขนพองสยองเกล้าก็ได้เกิดขึ้น
แผ่นดินก็กัมปนาทหวั่นไหว
[1673] เมื่อพระเวสสันดรพระราชทานช้างตัวประเสริฐแล้ว
คราวนั้นความน่าสะพรึงกลัวขนพองสยองเกล้าก็ได้เกิดขึ้น
ชาวพระนครก็กำเริบเสิบสาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :450 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 10.เวสสันดรชาดก (547) กัณฑ์หิมพานต์
[1674] เมื่อพระเวสสันดรพระราชทานช้างตัวประเสริฐแล้ว
ชาวเมืองก็วุ่นวายสับสนเสียงดังเซ็งแซ่
เป็นที่น่าสะพรึงกลัวแผ่กระจายไปมากมาย
พระนครก็ปั่นป่วน เมื่อพระเวสสันดร
ผู้ทรงผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพี
ได้พระราชทานช้างตัวประเสริฐแล้ว
เสียงอื้ออึงอันน่าสะพรึงกลัวเป็นอันมากก็เป็นไปในนครนั้น
(พระศาสดาตรัสว่า)
[1675] พวกคนผู้มีชื่อเสียง พระราชบุตร
แพศย์ ชาวนา พราหมณ์
กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ กองพลราบ
[1676] ชาวนิคมและชาวกรุงสีพีทั้งมวลมาประชุมพร้อมกัน
ชนเหล่านั้นเห็นพวกพราหมณ์นำพญาช้างไป
จึงกราบทูลแด่พระเจ้ากรุงสญชัยให้ทรงทราบว่า
[1677] ข้าแต่สมมติเทพ
แคว้นของพระองค์ถูกกำจัดแล้ว
เพราะเหตุไร พระเวสสันดรพระโอรสของพระองค์
จึงพระราชทานช้างตัวประเสริฐของเราทั้งหลาย
ที่ชาวแคว้นบูชา
[1678] ทำไม พระเวสสันดรจึงได้พระราชทาน
พญากุญชรของเราทั้งหลายตัวมีงาดุจงอนไถ
แกล้วกล้าสามารถ รู้จักเขตแห่งการรบทั้งปวง
เผือกผ่องประเสริฐสุด
[1679] คลุมด้วยผ้ากัมพลเหลือง ซับมัน อาจย่ำยีศัตรูได้
มีงาน่าชอบใจ เผือกผ่องดังภูเขาไกรลาส
พร้อมทั้งพัดวาลวีชนี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :451 }